น.พ.จรัสศักดิ์ เรืองพีระกุล
อาจารย์ประจำ รพ.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพฯ (อโศก)
ภาพที่ 1 แสดงผื่นด่างขาวบริเวณ คอและคาง ที่หายแล้ว ผู้ป่วยท่านนี้หยุดการรักษาแล้ว
โรคด่างขาว
(Vitiligo)
โลกไซเบอร์ยุคนี้มีการพูดกันถึงเรื่องผิวขาวมากเป็นอันดับต้นๆ ผิวขาวใสใครๆก็รัก ใครๆก็ชอบ แต่ถ้าขาวเป็นหย่อมๆ หรือที่เราเรียกกันว่า โรคด่างขาว
คงไม่มีใครอยากเป็นแน่ โรคด่างขาวเป็นโรคที่ผิวหนังผิดปกติเป็นสีขาวคล้ายสีสำลี
เนื่องจากสูญเสียเซลล์สร้างเม็ดสี(melanocyte)
โรคด่างขาวพบได้เกือบทุกเชื้อชาติ พบอุบัติการณ์ในเพศชายและเพศหญิงเท่าเทียมกัน(เสมอภาคทางเพศ)
พบทั่วโลกประมาณ 0.1-2% ส่วนใหญ่อายุที่เริ่มเป็นโรค ประมาณ 10-30
ปี
สาเหตุ
เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ที่ลดลง แต่ทำไมเม็ดสีมันลดลงยังคงไม่ทราบแน่ชัด อาจเป็นเพราะ
1.ระบบภูมิคุ้มกัน ที่ไม่ปกติ
2.พันธุกรรม
3.สารเคมีบางชนิด
4.สารต้านอนุมูลอิสระลดลง
5.อาจพบร่วมได้กับบางโรคเช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคเลือดบางชนิด
อาการ
ผื่นด่างขาวแบนราบ(ไม่นูน) สีขาวคล้ายสำลี ขอบเขตชัดเจน รูปร่างและขนาดแตกต่างกันที่ระยะและชนิดของโรค
อาจพบเส้นผมหรือขนบริเวณรอยโรคเป็นสีขาวร่วมด้วยได้ สามารถพบด่างขาวได้ทุกตำแหน่งบนร่างกายแต่มักเริ่มเป็นจาก
ปลายมือ ปลายเท้า ใบหน้า รอบดวงตา รอบปาก รักแร้ สะดือ ขาหนีบ และ ตำแหน่งที่มีการเสียดสีบ่อยเช่นเข่า
ศอก บริเวณเยื่อบุ เช่น ปาก จมูก อวัยวะเพศ
การตรวจวินิจฉัย
โดยมากเราแยกแยะจากอาการผื่นจุดขาวเป็นหลัก ทั้งชนิดและความรุนแรงแตกต่างกัน หากไม่แน่ใจในข้อสรุป ควรใช้รังสีแสงเหนือม่วง (ไม่ใช่เหนือเมฆ 2) ตามภาพที่ 2 มีช่วงคลื่นประมาณ 365 nm มาใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรค
ภาพที่ 2 แสดงอาการผื่นจุดขาวที่เห็นชัดเจนมากขึ้นเมื่อมองผ่านรังสีเหนือม่วง
ชนิดของโรคด่างขาว มี3ประเภท ดังนี้
1.ด่างขาวเฉพาะที่(local)
พบรอยโรคจำนวนไม่มากเช่นกระจายตามเส้นประสาท(segmental) มักพบผมขาวด้วยประมาณ 50% ,
บริเวณเยื่อบุ(mucosal) เช่น ปาก รอบดวงตา อวัยวะเพศ
2. ชนิดกระจายหลายตำแหน่ง(generalize)
พบรอยโรคกระจายสมมาตรกัน 2 ข้างของร่างกาย เช่น
ใบหน้า แขน ขา (acrofacial)
3. ขาวเป็นหย่อมๆทั่วร่างกาย(universalis)
พบด่างขาวมากกว่า 80%ของพื้นผิวร่างกาย
ชนิดนี้มักไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา ต้องหาสาเหตุเพิ่มเติม เพราะมักจะเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน(autoimmune)
การรักษา
1.กลุ่มยาทาเช่น ยาสเตียรอยด์ (steroids) ยาทาโครลิมุส (tacrolimus)
ยาทาวิทิสกิน(vitiskin)
2. การฉายแสงอาทิตย์เทียมชนิดเอ และ บี (UVB,PUVA) โดยต้องมาฉายแสงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง นาน 6 เดือนถึง 3 ปี
3.การผ่าตัดโดยวิธีย้ายผิวหนังปกติมาปลูกบนรอยโรคด่างขาว
ภาพที่ 3 แสดงด่างขาวที่มีขนาดเล็กลงหลังรักษาด้วยเอ๊กไซเมอร์
ชนิดของการรักษา(ต่อ)
4.เลเซอร์คลื่นแสงอาทิตย์ (Excimer 308 nm) เป็นทางเลือกหนึ่ง
หากทุกวิธีที่กล่าวมาแล้วยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ รายละเอียดที่นี่..........http://jaratsak.blogspot.com/2012/08/excimerlaser.html
5.หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาทุกชนิดและผื่นมีมากกว่า 50%ของร่างกายอาจพิจารณาให้สารฟอกขาว (MBEH ) เพื่อทำให้ผิวขาวทั้งตัวเหมือนนักร้องชื่อดังในอดีต(ไมเคิล แจ็คสัน)
ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาควรใช้เครื่องสำอางทาทับเพื่อปิดรอยโรคและควรใช้ยากันแดดทาบริเวณรอยโรคร่วมกับการหลบแสงแดด
เนื่องจากโรคนี้มีผลต่อคุณภาพชีวิต เป็นปมด้อยในใจผู้ใหญ่และเด็กหลายๆคน ใครๆก็มักไม่เข้าใจเห็นเป็นจุดเด่นไปได้ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีผู้ป่วยหลายคนไม่กล้าออกนอกบ้าน กลัวคนอื่นรังเกียจ แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคนี้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และไม่ติดต่อกันอย่างแน่นอน แต่ถึงกระนั้นใครหลายคนก็อยากรักษาให้หายขาด ปัจจุบันนี้มีการรักษาหลายวิธี การรักษาส่วนใหญ่ใช้เวลา 3 - 12 เดือนจึงจะรู้ผล ฉะนั้นก่อนที่ท่านจะตัดสินใจรักษาควรศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อน เพราะต้องใช้เวลานาน และอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษา ในรูปแบบแตกต่างกันไปนะครับ
ภาพที่ 4 แสดงโรคด่างขาวที่เริ่มตอบสนองต่อการรักษา
การตอบสนองต่อการรักษา
หากตอบสนองดีต่อการรักษาจะพบจุดสีน้ำตาลขึ้นบริเวณรูขุมขนของรอยโรคด่างขาว หรือพบว่ารอยโรคด่างขาวมีขนาดเล็กลง โดยการตอบสนองจะแตกต่างกัน
ขึ้นกับ.................................1.อายุ 2.ตำแหน่งที่เป็น 3.ระยะเวลาที่เป็นและ4.ชนิดของสีผิวผู้ป่วย เช่น คนอายุน้อย,ด่างขาวที่ใบหน้า คอ หรือลำตัว,เป็นด่างขาวมาไม่นาน(1-4 เดือน),ผู้ป่วยที่มีสีผิวเข้ม ทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ มักมีการตอบสนองที่ดีและเร็วกว่า แบบอื่นๆเป็นแน่ครับ ขอให้คนที่เป็นโรคด่างขาวศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียด
แล้วท่านจะพบหนทางที่ทำให้โรคด่างขาวหายได้ในเร็ววันครับ ผมเอาใจช่วย ขอให้โชคดีครับ .......
ขณะนี้ ทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพฯ ได้เปิดให้บริการเลเซอร์รุ่นใหม่ตัวนี้ ทั้งโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) โรคด่างขาว (Vitiligo) ภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ ( Atopic dermatitis,Eczema ) ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata ) ทั้งงานบริการตรวจรักษา และงานวิจัยเพื่อคนไทยโดยทั่วไป
สนใจติดต่อ โทร.089-783-9197 หรือ ที่ รพ.แม่ฟ้าหลวง (คุณน้อย) 38/11-13 อาคารอโศกเพลส ถนนอโศก สุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม.