วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พึงระวัง โรคที่มากับน้ำท่วม อาจถึงตายได้ !

พึงระวัง โรคที่มากับน้ำท่วม อาจถึงตายได้ !
 .
           ภาวะมหาอุทกภัย ในไทย ประจำปี 2554 นี้ เกินกว่าจะประเมินความเสียหายได้ นอกจากทรัพย์สินเงินทอง ของรักของหวงต้องหายวับไปกับกายเราแล้ว สภาพจิตใจและความระทมทุกข์ที่เกิดกับเราๆท่านๆ ก็เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หนำซ้ำของอุปโภค บริโภคที่เคยมีให้กินให้ใช้อย่างสบาย ก็หายวับไปกับสายน้ำเพราะถึงแม้จะมีเงินมากสักเพียงไร แต่ไม่มีน้ำดื่มให้ซื้อก็ไร้ประโยชน์ (เพราะของในร้านค้าหมดเกลี้ยง) บ้านผมเองอยู่แถวคลองมหาสวัสดิ์ น้ำก็มาเกือบมิดหลังคาเช่นเดียวกัน ในระหว่างที่น้ำยังท่วมอยู่เช่นนี้ หมอจึงขอนำความรู้และประสบการณ์มาแบ่งปันกัน หวังว่าคงจะบรรเทาทุกข์ผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย 
 
           โรคผิวหนังที่มักพบเสมอในภาวะน้ำท่วมขังนานๆเช่นนี้ คือโรคน้ำกัดเท้า โรคแผลพุพองเป็นหนอง โรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง โรคติดเชื้อแบคทีเรีย โรคบาดทะยัก และที่ต้องระวังมากที่สุดคือโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส แน่นอน เมื่อเราเดินย่ำน้ำบ่อยๆ หรือ ยืนแช่น้ำนานๆ จะทำให้เท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า บริเวณที่ผิวหนังเปื่อยนี้เป็นจุดอ่อน ทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเน่าเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เพราะฉะนั้น หลังจากเสร็จธุระนอกบ้านทุกครั้ง เราควรรีบล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วเช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากเท้ามีบาดแผล ควรชะล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ  เมื่อมีการติดเชื้อ แบคทีเรีย จะทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองหรือปวดได้ คงต้องให้การรักษาโดยการรับประทานยาฆ่าเชื้อ ร่วมกับการชะล้างบริเวณแผลด้วย น้ำยา เช่น น้ำด่างทับทิม แล้วทายาปฏิชีวนะ หากปล่อยให้มีอาการโรคน้ำกัดเท้าอยู่นาน ผิวที่ลอกเปื่อยและชื้นจะติดเชื้อราซ้ำเติม ทำให้เป็นโรคเชื้อราที่ซอกเท้ามีอาการ บวมแดง มีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็นและถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรัง เชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในผิวหนัง อาจรักษาหายได้ยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาจนอาการดีขึ้นดูเหมือนหายดีแล้ว แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดเชื้อราลุกลาม ขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดอาการเป็นๆ หายๆ เป็นประจำไม่หายขาด นอกจากนี้ควร ระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำ เพราะอาจถูกของมีคมทิ่มตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่าง ๆ  รวมทั้งเชื้อบาดทะยักได้ เมื่อประสบเหตุดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุข และควรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักด้วย  และที่ต้องเน้นย้ำให้ระวังมากที่สุดคือโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส ซึ่งเกิดจากแบคทีเรีย โดยเชื้อที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะซึ่งไม่ใช่แค่หนูเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สุกร โค กระบือ แรคคูณ หรือสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวอย่างสุนัขและแมว
การเล่นน้ำ ลุยน้ำ หรือแช่น้ำที่ท่วม อาจทำให้ติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ โดยเชื้อแบคทีเรียจะอยู่ในน้ำหรือดินที่ชื้นแฉะ และเข้าสู่ร่างกายของเราทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือทางเยื่อเมือก เช่น ตาและปาก
โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมขังด้วยแล้ว เชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดี เมื่อได้รับเชื้อพวกนี้เข้าสู่กระแสเลือดและหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ระบบการหายใจของร่างกายจะล้มเหลวและถึงแก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้น
 

       
การดูแลป้องกันตนเองมีข้อปฏิบัติดังนี้    
1. ควรรักษาสุขลักษณะความสะอาด ส่วนตัว โดยหมั่นล้างมือล้างเท้า เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์หรือตาแดงที่มักระบาดในช่วงนี้
 2. ถ้าต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำที่แห้ง ไม่สวมใส่รองเท้า หรือเสื้อผ้าที่อับชื้นและควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้งเมื่อกลับเข้าบ้าน หลังเช็ดแล้วควรเอาแป้งโรย อาจใช้แป้งเด็ก หรือแป้งที่ใช้ทั่วไปได้ก็ดี  หากจำเป็นต้องโดนน้ำบ่อยๆ ควรหาสารที่ป้องกันน้ำได้เช่น โลชั่นน้ำมันสำหรับเด็ก(baby oil)  น้ำมันมะกอก(olive oil) หรือขี้ผึ้งวาสลินทา( Vaseline ointment) ทาป้องกันก่อนเท้าเปียกน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันผิวหนังเปื่อยยุ่ย อันเนื่องมาจากการโดนน้ำบ่อยๆ เพราะสารที่กล่าว 3อย่างข้างต้น มีลักษณะพิเศษที่จะเคลือบผิวทำให้น้ำไม่สามารถซึมผ่านเข้ามายังผิวหนังชั้นในได้ 
3. ถ้ากรณีแช่น้ำนานๆ  ผิวหนังจะมีลักษณะชุ่มน้ำ อาจมีอาการผิวหนังเหี่ยวหรือแสบได้ เนื่องจากน้ำทำให้เกิดผื่นระคายสัมผัส ต่อมาอาจเกิดมีขุยขาว คันที่ซอกนิ้วมือหรือนิ้วเท้า  แสดงว่ามีเชื้อราแทรกซ้อนเข้าไป  ก็ให้ใช้ยาทาแก้เชื้อรา หรือน้ำกัดเท้าเช่น ขี้ผึ้ง วิทฟิลท์(Whitfield)  หรือ clotrimazole ทาซอกนิ้ววันละ 2 – 3 ครั้ง หรือยาฆ่าเชื้อราชนิดอื่นทาวันละ 2 ครั้ง ถ้าไม่หายควรไปพบแพทย์
4. หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆแผล และทาด้วยยาที่แผลด้วยยาฆ่าเชื้อโรค เช่น ทิงเจอร์ หรือ อาจใช้ยาพวกเบต้าดีนทาวันละ2 ครั้ง
5.  หากไม่ได้อาบน้ำหลายวัน (น้ำดื่มหายากพอๆกับน้ำอาบ เพราะน้ำรอบตัวทั่วไปเป็นน้ำเน่า) อาจเกิดอาการคันที่ซอกขา หรือตามลำตัว จะมีผื่นเป็นวงแดงที่ขาหนีบ หรือที่ตัว แสดงว่าเกิดโรคเชื้อราหรือ สังคังแล้ว ควรใช้ยาพวกวิทฟิลด์ หรือ ยาฆ่าเชื้อราทาวันละ2ครั้ง ถ้า 2 สัปดาห์แล้วยังไม่หายควรไปพบแพทย์
6. ไม่เล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว กระต่าย หรือ นก เพราะสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะเป็นพาหะ นำเชื้อราและเชื้อโรคมากมายหลายชนิด มาสู่คนโดยเฉพาะเด็ก
สุดท้ายนี้ ยังไงก็คนไทยทั้งนั้น ขอให้ใจเย็นๆกันไว้ ท่านบอกว่า ของทุกอย่างบนโลกใบนี้ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป น้ำมีขึ้น ก็มีลง ตอนเรามาเกิดก็มีเพียงกาย ไม่มีสมบัติติดตัวมาเลย ตอนนี้ยังมีความรู้ มีประสบการณ์ แรงกายและแรงใจ จะทำให้พวกเราฝ่าฟันปัญหาหนักๆเช่นนี้ได้แน่นอน  ท้อได้แต่อย่าถอย แล้วจะคอยเป็นกำลังใจให้ทุกๆท่านนะครับ
จรัสศักดิ์ เรืองพีระกุล



แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตาบอดหลังฉีดฟิลเลอร์

ฉีดฟิลเลอร์ ทำให้โลกเบลอ (ตาบอด) ทันที จริงหรือ???
                     
                           
                       ช่วงนี้กระแสข่าวการฉีดสารเติมเต็ม (filler)  หรือ สารHyaluronic acid กำลังมาแรงแซงทางโค้งในแฟชั่นความงามเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะในวงการแพทย์ผิวหนัง เป็นเพราะสาเหตุอะไร ดังจะได้กล่าวต่อไป...
สารชนิดนี้เริ่มมีมาประมาณ 30 ปีแล้ว ต้นตำรับคือ ยี่ห้อ zyderm เนื่องจากเป็นคอลลาเจนที่สกัดจากวัว ทำให้มีการแพ้บ่อย แพ้แบบรุนแรง และไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร  ต่อมาจึงเกิดการพัฒนาสารสังเคราะห์ ใกล้เคียงธรรมชาติของผิวหนังเรามากขึ้น ที่เรียกว่า Hyaluronic acid พบการแพ้น้อย และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ใครอยากฉีดลดร่องแก้ม , อยากเสริมจมูกแต่ไม่อยากผ่าตัด , อยากลดริ้วรอยแต่กลัว เลเซอร์ , ทำให้ริมฝีปากดูอวบอิ่ม , เพิ่มโหนกแก้มหรือฉีดเสริมคางให้ยาว สำหรับคนที่คางสั้น  สารเติมเต็มเหล่านี้จะช่วยตอบโจทย์ได้   แต่การเลือกว่าจะไปรับบริการที่ไหน เราควรศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบกันเสียก่อน มิฉะนั้นอาจจะต้องเสียใจภายหลัง ดังที่มีตัวอย่างมาแล้ว เพราะปัจจุบันมีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์  ใครๆก็สามารถดูได้ เลียนแบบ หรือฉีดเองที่บ้านหรือคอนโดก็ได้ แต่จะมีหมอ  (ขอย้ำว่าแพทย์นะครับ เพราะตอนนี้ไม่ใช่หมอก็แอบฉีดกันแบบผิดกฏหมายมากมาย)  สักกี่คน  ที่สามารถทำหัตถการนี้ได้อย่างประณีตและไร้ที่ติ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องปราศจากอันตรายแทรกซ้อนของยาตัวนี้  (1,2)  ซึ่งอาการข้างเคียงของการฉีดฟิลเลอร์ในปัจจุบันนี้ได้แก่ มีการบวม แดง หรือ เขียวเป็นจ้ำๆในตำแหน่งที่ฉีด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย บางคนหลังฉีดแล้วอาจจะคัน หรือรู้สึกเป็นก้อนไตๆใต้ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการฉีดตื้นเกินไป และไม่ได้มีการนวดหรือคลึงให้ก้อนสารนี้กระจายตัว ผลแทรกซ้อนอีกอย่างคือ อาจมีอาการปวด เจ็บ ปวดร้าวได้หลังฉีดทันที ซึ่งต้องระวังว่าสารเติมเต็มนี้อาจเข้าหลอดเลือด,เส้นเลือดอุดตัน  แล้วทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เกิดเนื้อตายได้ เนื่องจากสารนี้นิยมฉีดที่ใบหน้า จมูกและรอบดวงตา เส้นเลือดที่มาเลี้ยงส่วนนี้จะเชื่อมต่อกับหลอดเลือดที่เลี้ยงไปจอประสาทตา จึงมีเหตุการณ์ที่หลังฉีดสารนี้แล้ว ทำให้ตาบอดภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นข่าวที่ดังมากถึงมากที่สุดในเมืองไทย ช่วง 1-2สัปดาห์นี้ ความจริงแล้วมีรายงานการเกิดตาบอดแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง และหลายคน ทั้งในเมืองไทย  (3)  และต่างประเทศ  ทำให้วงการแพทย์ผิวหนัง ตื่นตัวและศึกษาหาข้อมูลกันอย่างละเอียด  เพื่อป้องกันเหตุการณ์นี้ซ้ำอีก ความจริงสารเติมเต็มชนิดที่เกิดเหตุการณ์นี้  ได้รับอนุญาตถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยและอเมริกาเรียบร้อยแล้ว ส่วนคนที่ฉีดก็เป็นแพทย์ แต่ยาก็คือยา ไม่ใช่ขนมนะครับ ย่อมมีฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราพึงระลึกไว้เสมอว่า  การรักษาอะไรก็ตามทุกครั้งย่อมมีความเสี่ยง แม้ทำกับแพทย์ที่เก่งมีฝีมือก็มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนได้ หลายคนพอได้ข่าวนี้แล้วก็บอกว่า ถ้างั้นฉันขอไปฉีดไขมันตัวเองแล้วกัน ปลอดภัยกว่า แต่จริงๆแล้ว หลังถูกฉีดไขมันตนเอง  ก็มีรายงานคนไข้ตาบอดในต่างประเทศเช่นเดียวกัน (4,5)
                      
                       
                       วงการความงามผิวหนัง  (cosmetics dermatology)  เมื่อ 10ปี ที่แล้ว ต่างจากตอนนี้มากมาย เมื่อก่อนใครอยากเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความงาม มักเป็นประเภทครูพักลักจำ วิชาเหล่านี้เป็นความรู้ที่คู่กับการทำเงินมาตลอด หลายคนจึงปิดกันเงียบไม่ค่อยสอนลูกศิษย์รุ่นหลัง  แต่ปัจจุบันครูแพทย์หลายๆท่าน  ยินดีและเต็มใจสอนอย่างเต็มที่ เปิดเผยแบบไม่มีกั้ก  ผมว่าเรามาพลิกวิกฤตเป็นโอกาสกันเถอะครับ เราจะป้องกันเหตุการณ์นี้ซ้ำอีกได้อย่างไร  อย่าทำแบบวัวหายแล้วล้อมคอกเลยครับ สังคมของเราจะได้น่าอยู่ขึ้นไปอีก 
 สนใจติดต่อ โทร.089-783-9197, 026644360 หรือ ที่ รพ.แม่ฟ้าหลวง (คุณน้อย) 38/11-13 อาคารอโศกเพลส ถนนอโศก สุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม.
 
Reference; 
1.Duffy DM. Complications of fillers: overview.
Dermatol Surg 2005; 31(11 Pt 2): 1626-33..
Ophthal Plast Reconstr Surg. 2011 Aug 22.
2.Aesthet Surg J. 2002 Nov;22(6):555-7.
3.J Med Assoc Thai. 2009 Jun;92 Suppl 3:S85-7.
4.A case of ophthalmic artery obstruction
following autologous fat injection in the glabellar
area [abstract]. Nippon Ganka Gakkai Zasshi
2007; 111: 22-5.
5.Autologous fat
injection for soft tissue augmentation in the face:
a safe procedure? Aesthetic Plast Surg 1998; 22:
163-7.